จุดตั้งต้น
ศูนย์ศึกษาวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย ได้จัดตั้งขึ้นโดยคณะบุคคลผู้มีความรู้ความชำนาญ และมีอุดมการณ์ร่วมกันในการเผยแพร่ความคิดเห็น ตลอดทั้งนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาสังคมให้เกิดความเป็นธรรมอย่างแท้จริง
จากความคิดริเริ่มของ ดร. อมร วาณิชวิวัฒน์ ในขณะกำลังศึกษาอยู่ ณ มหาวิทยาลัย อ๊อกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร ในเวลานั้น ดร. อมรฯ ได้ร่วมกับกลุ่มปัญญาชนไทยที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดบางส่วน เชิญชวนนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยฯ และสถาบันอื่นๆ ทั่วสหราชอาณาจักร ก่อตั้งเป็นกลุ่มความคิดในนามของ Oxford Initiative (OI) ขึ้นเป็นครั้งแรก
ครั้นเมื่อ ดร. อมรฯ สำเร็จการศึกษากลับมายังประเทศไทยไม่นานนัก ได้พยายามระดมสมอง และแสวงหาการสนับสนุนแนวความคิดดังกล่าว กระทั่งสามารถรวมตัวสถาปนา ศูนย์ศึกษาวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทยขึ้นเป็นผลสำเร็จ ทั้งนี้จากการหารือร่วมกันของกลุ่มบุคคลผู้ริเริ่มก่อตั้งศูนย์ศึกษาฯ ได้เล็งเห็นว่าเพื่อให้ศูนย์ศึกษาฯ มีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมอย่างโปร่งใสและมีที่มาที่ไปอย่างชัดเจน ทางกลุ่มผู้ริเริ่มหลักซึ่งประกอบด้วยบุคคล 3 ท่าน ได้แก่ ดร. อมร วาณิชวิวัฒน์ ผศ. ดร พิษณุ เสงี่ยมพงษ์ และ คุณเขตขัณฑ์ ดำรงไทย จึงได้ลงนามทำสัญญาตกลงจัดตั้งคณะบุคคลในนามของ “ศูนย์ศึกษาวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย” ขึ้น เมื่อวันจันทร์ที่ 6 มีนาคม 2549
พันธกิจ
เป็นองค์กรที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเพื่อสร้างสังคมที่มีความสามารถในการเรียนรู้ และพัฒนาระบบยุติธรรมที่ดี ที่เป็นธรรม ที่สนองตอบความต้องการของประชาชน โดยมุ่งดำเนินงานด้วยจริยธรรม ปราศจากอวิชา อาศัยความรู้ ความสามารถจากผู้ชำนาญในหลากหลายสาขา และความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน ทุกองค์กรของสังคม
งานเปิดตัว”ศูนย์ศึกษาวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย”
ฯพณฯ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นประธาน ในงาน เปิดตัวศูนย์ศึกษาวิจัยและพัฒนากระบวนการ ยุติธรรมไทย เมื่อวัน พุธที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ณ หอ ประชุมจุฬาฯ ในงานมีพิธีมอบรางวัลให้แก่ ผู้ชนะเลิศการประกวดตราสัญลักษณ์ของศูนย์ศึกษาวิจัยฯ จากนั้นเป็นการแสดงปาฐกถาพิเศษ “ก้าวนี้และก้าวต่อๆ ไป บนความพอเพียง” โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ที่ปรึกษา กิตติมศักดิ์ศูนย์ศึกษาวิจัยฯศูนย์ศึกษาวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย จัดตั้งขึ้นโดยคณะบุคคลผู้มีความรู้ความชำนาญและมีอุดมการณ์ในการเผยแพร่ความคิดเห็น ตลอดจนนำเสนอการแก้ปัญหาสังคมให้เกิดความเป็นธรรม
จากความคิดริเริ่มของ ดร. อมร วาณิชวิวัฒน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ ขณะศึกษาอยู่ ณ มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด สหราชอาณาจักร ได้เชิญชวนนักศึกษาไทยที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด และนักศึกษามหาวิทยาลัยอื่นๆทั่วสหราชอาณาจักรจัดตั้งกลุ่มความคิดในนาม Oxford Initiative ขึ้นเป็นครั้งแรก จนกระทั่งสามารถสถาปนาศูนย์ศึกษาวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทยขึ้นเป็นผลสำเร็จ
ต่อมาได้ลงนามจัดตั้งคณะบุคคลจดทะเบียนผู้เสียภาษีอากร ต่อสำนักงานสรรพากรสาขาวัฒนา ในนาม “ศูนย์ศึกษาวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย” เมื่อวันจันทร์ที่ ๖ มีนาคม ๒๕๔๙ ปัจจุบันนอกจาก ดร. อมร วาณิชวิวัฒน์จะทำหน้าที่กรรมการอำนวยการศูนย์ศึกษาวิจัยฯ แล้ว ยังมีคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งนักสังคมศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ นายแพทย์ นักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมาย ร่วมอุทิศตนเข้าร่วมเป็นกรรมการบริหารศูนย์ฯ อีกด้วย
โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ คณะกรรมการที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของศูนย์ศึกษาวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ๔ ท่าน ได้แก่ นายธานินทร์ กรัยวิเชียรและนาย พลากร สุวรรณรัฐ ฯพณฯองคมนตรี ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ และ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา นอกจากนี้ทางศูนย์ศึกษาฯ ยังได้รับการสนับสนุนทางด้านวิชาการจากผู้ทรงคุณวุฒิ ในแขนงวิชาชีพต่างๆ จำนวนมาก.
โครงการเปิดตัว”ศูนย์ศึกษาวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย”
และการอภิปรายในประเด็นว่าด้วย
“ ก้าวนี้และก้าวต่อไปบนความพอเพียง”
วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน 2549 13.00-16.00 น.
ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลักการและเหตุผล เนื่องด้วยศูนย์ศึกษาวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย (องค์กรอิสระไม่สังกัดหรือขึ้นตรงกับหน่วยงานใด) ได้จัดตั้งขึ้นโดยคณะบุคคลผู้มีความรู้ความชำนาญและมีอุดมการณ์ร่วมกันในการเผยแพร่ความคิดเห็น ตลอดทั้งนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาสังคมให้เกิดความเป็นธรรมอย่างแท้จริง
ทางกลุ่มผู้ริเริ่มหลักซึ่งประกอบด้วยบุคคล 3 ท่าน ได้แก่ ดร. อมร วาณิชวิวัฒน์ ผศ.ดร พิษณุ เสงี่ยมพงษ์ และ คุณ เขตขัณฑ์ ดำรงไทย จึงได้ลงนามทำสัญญาตกลงจัดตั้งคณะบุคคลจดทะเบียนผู้เสียภาษีอากรต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาวัฒนา ในนามของ “ศูนย์ศึกษาวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย” ขึ้น เมื่อวันจันทร์ที่ 6 มีนาคม 2549 ทั้งนี้
ปัจจุบันทางศูนย์ศึกษาฯ นอกจาก ดร. อมร วาณิชวิวัฒน์ จะเป็นผู้ทำหน้าที่กรรมการผู้อำนวยการแล้ว ยังมีคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งนักสังคมศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ นายแพทย์ นักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมาย ได้ร่วมกันอุทิศตนเข้าร่วมเป็นกรรมการบริหาร อีก 7 ท่านด้วยกัน ได้แก่ ดร. จิราวรรณ เดชานิพนธ์ (คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ผศ. ดร. พิษณุ เสงี่ยมพงษ์ (คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ) รศ. ดร. ธวัชชัย ตัณฑุลานิ (คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ) นายแพทย์ ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ (คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ) อาจารย์ นพพล วิทย์วรพงษ์ (คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ) อาจารย์ ดร. ปารีณา ศุภจริยาวัตร (คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ) โดยมี คุณ เขตขัณฑ์ ดำรงไทย เป็นกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เนตประจำศูนย์ฯ
นอกจากนี้ ทางศูนย์ศึกษาฯ ได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจาก ฯพณฯ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้กรุณารับเป็นประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของศูนย์ฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ผู้ทรงเกียรติอย่างสูงอีก 4 ท่าน ประกอบด้วย ฯพณฯ ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ฯพณฯ พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ และ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา
พร้อมกันนี้ยังได้รับการสนับสนุนทางด้านวิชาการในการรับคำปรึกษาแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิในแขนงวิชาชีพต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่สามารถกล่าวนามทั้งหมด ณ ที่นี้ได้ แต่จะมีรายชื่อของทุกท่านปรากฏอยู่ในวารสาร “ยุติธรรมคู่ขนาน” ฉบับปฐมฤกษ์ที่กำลังดำเนินการจัดพิมพ์อยู่ในขณะนี้ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมของศูนย์ศึกษาฯ ต่อจากนี้ไปสำเร็จสมดังความมุ่งหมายที่วางไว้ ทางกรรมการบริหารฯ จึงมีดำริให้มีการจัดประชุมสัมมนาให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีพิธีเปิดตัวศูนย์ศึกษาฯ ขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายนนี้
พร้อมกับการมอบรางวัลผู้ชนะเลิศและรองชนะเลิศจากการประกวดตราสัญลักษณ์ของศูนย์ศึกษาฯ ในเวลานั้นด้วย สำหรับการจัดอภิปรายสัมมนาทางวิชาการอย่างต่อเนื่องนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน ซึ่งจะได้เรียนเชิญผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เกี่ยวข้องมาให้ความรู้และนำเสนอแนวความคิดรวบยอดจากทุกภาคส่วนของสังคมเท่าที่จะกระทำได้ โดยจะเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการอภิปรายซักถามแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ
กำหนดการ วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน 2549 ระหว่างเวลา 1300-1600 ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ผู้เข้าร่วมงาน ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ นักธุรกิจ สื่อมวลชน นิสิตนักศึกษาและประชาชนทั่วไป
- การถ่ายทอดบันทึกเทป จะได้เรียนเชิญสื่อมวลชน สำนักข่าว วิทยุ โทรทัศน์ ทุกสถานี เพื่อทำการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ รวมทั้งจะได้ขอความร่วมมือไปยังสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 เพื่อทำการถ่ายทอดสดบางส่วนของกิจกรรมนี้ด้วย หากไม่ขัดข้อง
- เอกสารเผยแพร่และของที่ระลึก ภายในงานจะได้มีการแจกวารสาร “ยุติธรรมคู่ขนาน” ฉบับปฐมฤกษ์ แจกจ่ายให้แก่ผู้สนใจโดยไม่คิดมูลค่า พร้อมด้วยของที่ระลึก
- การเข้าร่วมงาน แสดงบัตรเชิญหรือหนังสือเชิญพร้อมทั้งลงทะเบียนหน้างานโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
13.00 น. การแสดงบนเวที
14.30น. ฯพณฯประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษเป็นประธานในพิธี
กรรมการอำนวยการกล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงาน และความเป็นมาของ ศูนย์ฯ โดยสังเขป
ฯพณฯ ประธานองคมนตรี กล่าวคำอำนวยพรและ มอบรางวัลผู้ชนะเลิศและ รองชนะเลิศการประกวดตราสัญลักษณ์ฯ จากนั้น เป็นการแสดงปาฐกถาพิเศษ
15.00-16.00 น. การแสดงปาฐกถาพิเศษในประเด็นว่าด้วย “ก้าวนี้และก้าวต่อไปบนความพอเพียง”
ดร. สุเมธ ตันติเวชชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา
คำกล่าวอำนวยพรของ ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เนื่องในโอกาสให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดตัวศูนย์ศึกษาวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน 2549 ณ.หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กระบวนการยุติธรรมเป็นคำที่สำคัญและมีความหมายมาก แต่คนส่วนใหญ่ยังมีความรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากการดำเนินชีวิตตามปกติของผู้คนโดยทั่วไป จึงไม่ใคร่ให้ความสำคัญและไม่ใคร่ให้ความสนใจ ที่จริงคำว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นคำที่มีความหมายลึกซึ้งและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทยทุกคน
กระบวนการยุติธรรมหมายถึง การอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมที่พวกเราทุกคนอยู่ร่วมกันในทุกภาคส่วน ปัญหาของสังคมเกือบทุกด้านมีที่มาจากปัญหาความไม่สามารถในการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จึงเป็นภาระของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย จะต้องร่วมกันแสวงหาแนวทาง ความคิด ในการแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน และเป็นองค์รวม เพื่อให้ทุกส่วนตระหนักและเข้าใจ
ตราบใดที่กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถดำรงความยุติธรรมไว้ได้ ตราบนั้นผลกระทบจะยังเกิดขึ้นกับประชาชนจะไม่มีวันลดน้อยลงได้
จึงเห็นได้ว่า กระบวนการยุติธรรมไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนพึงทราบ และมีความเข้าใจว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นกระบวนการที่จะนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรมในสังคมได้อย่างแท้จริง
ศูนย์ศึกษาวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย แม้จะเป็นองค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นได้ไม่นานนัก แต่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงที่จะเข้ามามีส่วนในการเสริมสร้างกลไกกระบวนการยุติธรรมในลักษณะคู่ขนานไปกับสังคม นับว่าเป็นจุดริเริ่มที่จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง หากในอนาคตองค์กรที่มีผู้ทรงคุณวุฒิหลายสาขาอาชีพได้สมัครใจร่วมกันดำเนินงานนี้ ก็จะสามารถพัฒนาด้านศักยภาพในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้เจริญก้าวหน้า และตอบสนองต่อการร่วมมือร่วมใจ ช่วยกันแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม
ที่สำคัญมากๆ คือ ศูนย์ฯ นี้จะต้องมุ่งมั่นและแน่วแน่ในวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้อย่างมั่นคง เพื่อก่อให้เกิดศรัทธา เชื่อถือเป็นที่สนใจและยอมรับของคนไทยทั้งมวล
กระบวนการยุติธรรมมีหลายส่วนของรัฐรวมกันเข้าเป็นกระบวน แต่ละส่วนตั้งแต่ต้นจนสุดท้าย จะต้องดำรงความเป็นธรรมและความยุติธรรมโดยพร้อมเพรียงกัน ไม่เช่นนั้นทั้งกระบวนก็จะไม่ยุติธรรม
มีนักกฎหมายจำนวนไม่น้อยพูดว่า ในบางเรื่องกระบวนการยุติธรรมไม่ในบางเรื่องกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถจะดำรงความยุติธรรมไว้ได้ เพราะกฎหมายไม่เป็นธรรม ผมจำได้ว่า ผมเคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชกระแสรับสั่งว่า กฎหมายบางฉบับของเราไม่เป็นธรรม ศูนย์ฯ นี้น่าจะให้ความสนใจในเรื่องนี้ด้วย
ณ โอกาสนี้ผมใคร่ขออำนวยพรให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของศูนย์ศึกษาฯ ประสบผลสำเร็จในด้านการจัดงานเปิดตัวในครั้งนี้ และมีความเจริญก้าวหน้าในการดำเนินงานยิ่งๆ ขึ้นไปในอนาคต
* ถอดเทปคำกล่าวอำนวยพรโดย ดร. อมร วาณิชวิวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย